Areeya Metaya Blog

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ใสและแสนเป็นสองนักศึกษาผู้เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับพวกเขา ทั้งสองเดินทางรอนแรมไปทั่ว จนในที่สุดก็ไปถึงแคว้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือว่า มีอาจารย์เก่งอยู่สองท่าน ผู้คนในแคว้นนี้ต่างให้ความเคารพนับถืออาจารย์ทั้งสองท่านนี้เป็นอย่างมาก

อาจารย์ท่านแรกมีชื่อว่า อาจารย์โชติกา ลูกศิษย์ของท่านยกย่องท่านว่าเป็นพหูสูตรเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องรอบรู้ทุกวิชา ท่านสามารถตอบคำถามได้รอบด้าน ทั้งการเมือง การปกครอง การเกษตร การแพทย์ การทหาร การคลัง ตอบแม้กระทั้งหลักปรัชญาชั้นสูง ท่านอาจารย์โชติกามีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาศรมของท่านจึงใหญ่โตโอ่อ่ามีห้องหับสำหรับลูกศิษย์นับร้อยห้อง บริเวณโถงต้อนรับแขกก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งที่มาปรึกษาและผู้ที่มาเรียนกับท่าน ผู้ใดจะเข้าพบกับท่านจึงต้องมาลงชื่อไว้ล่วงหน้าก่อนหลายเดือน

อาจารย์ท่านที่สองมีชื่อว่า อาจารย์สุธีรา มีลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับอาจารย์ท่านนี้บางคนเปลี่ยนใจไปเรียนกับอาจารย์โชติกา เหตุเพราะว่าท่านไม่ค่อยจะสอนอะไร ถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบให้กระจ่าง ได้แต่บอกให้ลูกศิษย์ไปคิดเอาเอง จนท่านได้รับฉายาจากลูกศิษย์ที่ลาออกไปว่า “ครูผู้เกียจคร้าน” แต่ท่านก็เป็นที่นิยมชมชอบจากผู้คน เพราะท่านเป็นคนมีอัธยาศัยดี เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตรอง ทุกครั้งที่มีลูกศิษย์หรือคนภายนอกไปขอเข้าพบ ท่านก็จะออกมาต้อนรับขับสู้อย่างเป็นกันเอง

นักศึกษาคงแก่เรียนทั้งสองคือใสและแสน จึงตัดสินใจเดินทางไปที่อาศรมของอาจารย์โชติกาก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากอาศรมของท่านมีชื่อเสียงมากที่สุด เมื่อไปถึงทั้งคู่ก็ลงชื่อสมัครฝากเนื้อฝากตัวเข้าเป็นลูกศิษย์ทันที แต่เนื่องจากมีคนลงชื่อไว้เป็นจำนวนมาก ทางอาศรมจึงมีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าเรียนคือ จะต้องสอบให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจารย์ได้เตรียมข้อสอบสำหรับกรณีนี้ไว้แล้ว หากสอบผ่านก็สามารถเข้าเรียนได้เลย แต่หากสอบไม่ผ่านก็มีอีกวิธีหนึ่งคือ จะต้องบริจาคทรัพย์สินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการเข้าเรียน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่เหล่าลูกเศรษฐีของแคว้นนี้นิยมใช้กัน

ใสและแสนจึงไม่รีรอที่จะเลือกทำข้อสอบ เพราะทั้งคู่ไม่มีทรัพย์สินติดตัวมาเลย เมื่อทำข้อสอบเสร็จและรอฟังผลในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าแสนคือคนที่สอบผ่าน และได้เข้าไปเรียนในอาศรมของอาจารย์โชติกาทันที ส่วนใสเมื่อสอบไม่ผ่านจึงเดินทางไปขอเรียนกับท่านอาจารย์สุธีราแทน เมื่อไปถึงอาศรมของอาจารย์ท่านก็รับใสเป็นลูกศิษย์ในวันนั้นโดยไม่มีการสอบคัดเลือกหรือบริจาคทรัพย์สินใดๆ

วันเวลาผ่านไปหลายปี ใสและแสนไปมาหาสู่เพื่อบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบกันเป็นประจำ เห็นได้ชัดว่าแสนมีความรู้มากขึ้นพูดจาดูฉลาดมีหลักการมากขึ้น ซึ่งบางครั้งแสนก็พูดจาในเชิงดูถูกดูแคลนใสว่าด้อยกว่าตนเอง และแล้วก็ถึงเวลาที่ทั้งคู่จบการศึกษาและต้องออกไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคม พอดีเวลานั้นมีประกาศจากเมืองหลวงว่ามีการสอบคัดเลือกคนเพื่อเข้ารับราชการ ทั้งคู่จึงมุ่งหน้าเดินทางไปสอบทันที

ในการสอบครั้งนี้มีท่านอำมาตย์ดูลย์เป็นคนออกข้อสอบ ท่านให้โจทย์มาเพียงข้อเดียวคือ หากเวลานี้บ้านเมืองกำลังประสบปัญหารอบด้าน มีขโมยขโจรชุกชุม เกิดภัยแล้งข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบ ข้าศึกจากทั่วทุกสารทิศจ้องจะทำศึกสงคราม ท่านจะแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้อย่างไร

แสนผู้มีความรู้มาก ทำข้อสอบข้อนี้ด้วยความกระตือรือล้น เพราะเขาได้เรียนรู้ศาสตร์วิชาการจากอาจารย์โชติกามาแล้วอย่างรอบด้าน เขาแยกแยะปัญหาออกเป็นเรื่องๆ และตอบทีละเรื่องโดยละเอียด เขาใช้เวลาเขียนคำตอบเหล่านั้นเกือบครึ่งวันโดยไม่เสียเวลาหยุดพักเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับใสเมื่ออ่านคำถามจบ เขากลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการเขียนคำตอบ

เมื่อถึงเวลาประกาศผลทั้งคู่ก็ผ่านการสอบ แสนได้รับคัดเลือกให้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจัดระเบียบเมือง ส่วนใสได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยอำมาตย์ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการสอบ แสนแปลกใจว่าทำไมใสจึงได้รับคัดเลือกเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่าเขา ทั้งๆ ที่เขาตั้งใจเขียนวิธีการแก้ปัญหาอย่างละเอียดและทุกคำตอบก็เป็นการแก้ปัญหาตามหลักวิชาการมากที่สุด

แสนไม่เก็บความสงสัยนั้นไว้ในใจ เขาตรงไปถามท่านอำมาตย์ดูลย์ในทันที เมื่อท่านอำมาตย์ได้ยินข้อสงสัยของแสนจึงพูดกับเขาว่า “ในบรรดาผู้ที่มาสอบทั้งหมดหนึ่งร้อยคน เกือบทุกคนเขียนคำตอบเหมือนกับของเธอ คือเสนอแนะการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องอย่างละเอียด ฉันจึงทำหน้าที่เพียงแค่แยกแยะว่าใครเขียนได้ละเอียดกว่ากัน และเธอคือหนึ่งในเก้าคนที่ฉันเลือกเข้ามาทำงานเธอเก่งมากรู้ไหมเธอจงภูมิใจเถอะ แต่ในบรรดาผู้เข้าสอบหนึ่งร้อยคนนี้มีใสเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เขียนเสนอแนะการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่องอย่างละเอียด เขากลับเขียนคำตอบมาเพียงแค่สองบรรทัด ซึ่งเป็นคำตอบที่ครอบคลุมและฉันก็คิดว่าสามารถแก้ไขได้ทุกเรื่อง”

ท่านอำมาตย์ถามแสนว่า เธออยากรู้ไหมว่าเขาเขียนคำตอบว่าอย่างไร… เขาเขียนว่า “ให้พระราชากลับไปคิดทบทวนบทบาทของพระองค์เองว่า ได้ให้เกียรติคนรอบข้าง, ข้าราชบริภาร, ประชาชน, รวมถึงประเทศราชที่อยู่รอบ ๆ มากพอหรือยัง ถ้ายังขอให้พระองค์ลดตัวลงและฟังเสียงของพวกเขาให้มากกว่านี้ แล้วปัญหาต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง”

ธาตรี โภควนิช

28-08-2019

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *



  • บทความล่าสุด

  • TAG

  • กันยายน 2024
    จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
     1
    2345678
    9101112131415
    16171819202122
    23242526272829
    30