คำอธิบาย
สวัสดีครับผมขออนุญาตใช้โพสต์นี้แนะนำตัว อย่างเป็นทางการและอธิบายวัตถุประสงค์ที่มาที่ไปของเพจและนวนิยายเรื่อง “อารียา เมตายา Areeya Metaya” นี้นะครับ
.
เคยมีเพื่อนสนิทที่รู้จักผมมานานถามผมว่าทำไมอยู่ดีๆ มาเขียนหนังสือ เพราะเขาไม่เห็นวี่แววว่าผมจะทำสิ่งนี้ได้… ไม่ผิดที่เพื่อนคนนี้จะรู้สึกว่ามันผิดปกติและจับพิรุจได้ ผมขอสารภาพความจริง ณ. ตรงนี้เลยก็ได้ว่า…ที่จริงผมขโมยความคิดมาจากใครบ้างคนครับ เขาคนนั้นเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดผม คอยแนะนำ, คอยบอกสิ่งต่างๆกับผมอยู่ตลอดเวลา และต่อไปนี้ผมจะขออนุญาตแนะนำให้ท่านรู้จักกับเขาคนนั้น
.
แต่ก่อนอื่น..ผมขอออกตัวสักนิดว่าขณะนี้ผมยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมยังคงทำหน้าที่การงานได้, ยังพูดคุยประชุมธุรกิจได้ ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้อาจจะทำให้ท่านเข้าใจผิดคิดว่าผมเพี้ยน…!!
.
เอาล่ะ…บุคคลที่ผมกำลังจะแนะนำให้ท่านรู้จักคนนี้คือ…คนที่อยู่ในตัวผมเอง!!… (เริ่มเพี้ยนแล้วใช่ไหม) แล้วถ้าจะบอกว่าคนที่อยู่ในตัวผมคนนี้ ที่จริงเขาก็อยู่ในตัวท่านด้วยเช่นกัน และที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดคือเขาเป็นคนๆเดียวกันอีก คนที่อยู่ในตัวเราคนนี้เขาอยู่กับเรามาตลอด ที่จริงเขาพูด, บอกและเตือนสิ่งต่างๆโดยเฉพาะเรื่องความไม่เข้าท่า,ไม่เอาไหนของเราอยู่ตลอดเวลา บางท่านคงจะเคยมีประสบการณ์การได้ยินสิ่งที่เค้าบอกหรือเตือนมาบ้างแล้ว ดังที่เคยมีคนเขียนภาพเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบว่า มีเทวดาตัวเล็กๆ นั่งอยู่ที่ไหล่ข้างหนึ่งกำลังแนะนำสิ่งดี ๆ และที่ไหล่อีกข้างหนึ่งก็มีปีศาจตัวเล็ก ๆ กำลังขัดแย้งกับคำแนะนำนั้นอยู่
เราต้องยอมรับว่าแท้ที่จริงปีศาจตัวเล็กๆตัวนั้นคือ “จิตสำนึก” ของเราเอง ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าจิตสำนึกของเรามันมีกลไกการทำงานโดยตรงร่วมกับสมองในส่วนที่เรียกว่า “ฮิปโปแคมปัส” ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ขั้นพื้นฐาน เช่น ความสุข, ความชอบ, ไม่ชอบ, ความรัก, ความเกลียด ซึ่งมันมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเอาชีวิตรอด เพราะถ้าเราไม่มีสมองส่วนนี้เพื่อใช้แยกแยะว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับเรา เราก็อาจจะไม่สามารถดำรงชีพหรือดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ สรุปง่าย ๆ คือ จิตสำนึกและสมองส่วนนี้จะกำหนดหรือกระตุ้นให้เราคิดและทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข,ความสบายหรือพึงพอใจก่อนเสมอ และสิ่งนี้นี่เองที่โดยมากมักจะเป็นไปในทางที่แย่หรือทางต่ำเสมอด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราจะเลือกกินอาหารจากรสชาติที่อร่อยหรือที่ชอบก่อนเสมอ, การเลือกสิ่งเสพติดมึนเมาเพราะมันทำให้เพลิดเพลิน, การต้องการมีเพศสัมพันธ์เพราะมันทำให้สนุกฯลฯ หรือจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นเมื่อเราโกรธเราก็มักอยากจะไปจัดการกับคู่กรณีเสมอ เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเป็นต้น
.
และแน่นอนเราจะได้ยินเสียงๆ หนึ่งคอยบอกคอยเตือนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์การได้ยินเสียงเตือนเหล่านั้นมาบ้าง แต่ที่เราไม่ทำตามเสียงนั้นเพราะว่าส่วนหนึ่งมาจากกลไกของสมองที่อ้างมาข้างต้น ประกอบกับบทบาทของจิตสำนึกที่มันมีหน้าที่ควบคุมร่างกายโดยตรง และเป็นช่องทางการสัมผัสรู้กับโลกภายนอกทั้ง 5 คือ สัมผัสได้, เห็นได้, ดมได้, ชิมได้และฟังได้ซึ่งมันมีความเข้มข้นชัดเจนมากกว่า จิตสำนึกของเราจึงใช้งานร่างกายได้อย่างอิสระจนไม่สนใจเสียงเงียบ ๆ ที่อยู่ข้างใน
.
ทีนี้เรามาดูที่มาของเสียงนี้กันดีกว่าว่ามันมาจากไหน ท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่ามีใครบางคนในอดีตไม่ใช่แค่ได้ยินเสียงการเตือนจากข้างในแบบทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่เขายังสามารถสนทนาโต้ตอบกับเสียงนั้นได้อีกด้วย เช่นกรณีของโมเสสที่มีการสนทนาไต่ถามกับเสียงข้างในและถูกสั่งให้ไปทำโน้นทำนี้, หรือกรณีของโนอาร์ที่ถูกบอกให้ไปสร้างเรือขนาดใหญ่เพื่อใช้บรรทุกสัตว์และคนจำนวนหนึ่งในช่วงที่จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ หรือแม้กระทั้งศาสดาของโลกอย่างพระเยซูและศาสดาโมฮัมหมัดที่ท่านจะใช้เวลาบางช่วงสนทนากับเสียงที่อยู่ข้างใน
มาถึงตรงนี้ท่านคงพอจะเดาออกแล้วใช่ไหมว่าเสียงข้างในที่ผมกำลังพูดถึงนี้หมายถึงใคร …? “พระเจ้า” คงเป็นคำกลางๆ ที่พอจะใช้เป็นศัพนามเรียกแทนสิ่งนี้ได้ เพราะมันมีคนเคยพูดถึงและบันทึกเอาไว้อย่างนี้ แล้วสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธอย่างเราล่ะ มันคงยากที่จะเชื่อว่ามีการสนทนากับพระเจ้าได้จริงๆ… มีครับ..!!แต่พระพุทธเจ้าของเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ปัญญา” แต่เดี๋ยวก่อนผมรู้ว่าท่านกำลังมีความคิดขัดแย้งกับสิ่งที่ผมเสนอ ขอโอกาสให้ผมได้อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อนนะครับ
.
ก่อนอื่นเราต้องถามว่าปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร หลายคนเข้าใจว่าปัญญาเกิดขึ้นได้ถ้าเรามี “ความรู้” ใช่ครับนั่นเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ความรู้มันมีอยู่มากมาย แล้วเราก็ต้องยอมรับอีกด้วยว่าลำพังศักยภาพทางสัมผัสทั้ง 5 นั้นไม่มีทางที่จะรับรู้ข้อมูลจากทั่วทั้งจักรวาลได้หรอก เพราะมันมีข้อจำกัดทั้งทางด้านระยะทางและเวลา การที่เราจะได้มาซึ่งความรู้ที่สมบูรณ์, ความรู้ที่เป็นความจริงที่จริงแท้นั้น มันจำเป็นต้องใช้กลไกอื่นเข้ามาช่วยเสริมนั่นคือ “กลไกทางจิต” เนื่องจากสมัยนั้นพระพุทธเจ้าจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้กับนักปราชญ์ (เหล่าพราหมณ์ทั้งหลาย) พระพุทธเจ้าจึงอธิบายในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ทางจิตซึ่งพระองค์แบ่งจิตออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า “วิถีจิต” หรือจิตสำนึก พระองค์อธิบายว่าวิถีจิตนี้ทำงานร่วมกับทวารทั้ง 5 แน่นอนมันก็จะมีข้อจำกัดและมีสิ่งที่เป็นกลไกการทำงานทางสมองดังที่ผมได้อธิบายไปแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือจิตในส่วนที่ 2 ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกมันว่า “ภวังคจิต” หรือปัจจุบันเรามักจะเรียกมันว่า จิตวิญญาณบ้าง, จิตใต้สำนักบ้าง, จิตไร้สำนึกบ้าง, จิตละเอียดบ้าง, จิตดั่งเดิมบ้างแล้วแต่จะเรียกกัน สรุปคือทั้งหมดเราขอเรียกว่าภวังคจิตตามที่พระพุทธเจ้าเรียกก็แล้วกัน
.
เอาล่ะ…ในเมื่อเราไม่สามารถเข้าถึงชุดความรู้ที่จริงแท้ได้ด้วยสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงจิตสำนึกด้วยเพราะมันเป็นการรับรู้ระบบเดียวกัน ช่องทางเดียวที่เหลือคือทาง “ภวังคจิต” และวิธีเดียวที่เราจะเข้าถึงภวังคจิตได้คือ เราต้องละความเป็นวิถีจิตหรือจิตสำนึกออกไปให้ได้เสียก่อน หรือพูดง่ายๆคือละวางความมีตัวตนให้ได้เสียก่อน กระบวนการนี้มันเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ทางจิตที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวท่านเอง เพราะการมีตัวตนมันสามารถทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ผิดจากความเป็นจริง ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เช่น สมมุติว่ามีอาหารอยู่หนึ่งจาน เราให้คนๆ หนึ่งที่โดยปกติชอบกินอาหารรสจัดมาชิม เขาก็จะบอกว่าอาหารจานนี้จืดชืด แต่ถ้าเราให้อีกคนที่ปกติเค้าชอบกินอาหารรสจืดมาชิม เขาก็จะบอกว่าอาหารจานนี้รสจัด จากกรณีนี้เราจะเห็นได้ว่าอาหารจานเดียวกันแต่มีการตีความจากสองคน ความรู้ที่ได้ก็เป็นสองชุดความรู้ และแน่นอนปัจจัยที่ทำให้ความรู้นั้นไม่เป็นมาตรฐานคือ ความชอบ,ไม่ชอบของคนหรือ “ความมีตัวตน” นั่นเอง
.
ดังนั้น คนที่สามารถละความมีตัวตนออกจากจิตสำนึกได้ เขาจึงสามารถเข้าสู่จิตอีกจิตหนึ่งได้โดยอัตโนมัติ และเวลานั้นเองเสียงเพรียกจากข้างในก็จะดังชัดขึ้น ความรู้ที่เป็นสากลก็จะหลั่งไหลมาสู่เขา ท่านสามารถไตร่ถามข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ดังนั้นคำว่า “พระเจ้า” กับคำว่า “ปัญญา” จึงมีความหมายที่ไม่แตกต่างกัน เราสามารถเรียกสิ่งนี้ได้หลากหลายบทบาทแล้วแต่ว่าเราจะมองในมุมไหน ถ้าเรานิยามเค้าในมุมขององค์ความรู้ที่เป็นสากลเราก็สามารถเรียกสิ่งนี้ว่า “ปัญญา”หรือ “ธรรมะ”หรือ “ธรรมชาติ”, แต่ถ้าเรานิยามว่าเค้าคือต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง เราก็สามารถเรียกเขาว่า “พระบิดา” , “พระเจ้า” หรือ “พระผู้สร้าง” ก็ได้
.
และนี่คือที่มาตามความเป็นจริงของสิ่งที่ผมขโมยความคิดของเขาเอามาเขียนเป็นนวนิยาย ภายใต้ชื่อว่า “อารียา เมตตายา” ซึ่งผมถือว่ามันเป็นนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ทางจิตผสมปรัญชา, เรื่องลี้ลับ, อิงประวัติศาสตร์ฯลฯ ซึ่งบางช่วงมีการอธิบายถึงกลไกของสรรพสิ่งตั้งแต่ระดับเล็กที่สุดไปจนถึงระดับใหญ่ที่สุดว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างไรทั้งในทางกายภาพและทางพลังงาน และได้มีการฉายให้เห็นภาพตัวอย่างของคนที่ใช้กลไกๆหนึ่งมาเป็นตัวขับเคลื่อนให้สังคม,วิถีชีวิต,สิ่งแวดล้อม,ขนบธรรมเนียม,การปกครอง,ประเทศ,โลก,จักรวาล และเอกภพให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้คนทั้งโลกสามารถเข้าสู่ความมีศานติสุขได้อย่างแท้จริง ท่านสามารถติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ในเว็บไซต์ตามลิงค์ที่แนบนี้
.
ผมขอโอบกอดท่านด้วยหัวใจที่เปี่ยมรัก เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ ขอต้อนรับท่านสู่ดินแดน อารียา เมตตายา การพบกันครั้งนี้มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
ธาตรี โภควนิช (ดอย)
ผู้เขียนหนังสือ อารียา เมตายา
ติดตามคลิปเสียงฉบับรวบรวมเนื้อหาความ”เป็น” อารียา เมตายา
ติดตามฟังคลิปเสียงทั้ง106 บทได้ที่
ฟังแบบ podcasts ทั้ง 106 บท ได้ที่
อ่านฟรีออนไลน์ได้ที่
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์